ถ้าพูดถึง สะตอ เราก็จะนึกถึงรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวของมัน ที่ถ้าหากเราทานเม็ดสดเข้าไปแล้วนอกจากจะมีรสมัน เผ็ด แสบ เล็กน้อยแล้ว ยังจะมีเรื่องของกลิ่นเขียวๆ เฉพาะตัวที่จะติดปากของเรา รวมถึงกลิ่นตัวและกลิ่นผายลมของเราก็จะมีกลิ่นแรงมากขึ้นด้วย เนื่องจากกำมะถัน อนุพันธ์ต่างๆ และสารระเหยที่รวมอยู่ในเม็ดของมัน เรามาดูที่มาของความกลิ่นแรง และเรื่องน่ารู้ของพืชตระกูลถั่วชนิดนี้กัน
สารที่ทำให้ สะตอ มีกลิ่นแรง
สะตอ มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Stink Bean ที่แปลตรงตัวว่า “ถั่วเหม็น” มีกลิ่นแรงได้ขนาดนี้ก็เพราะว่า สารประกอบในตัวมันได้แก่
กำมะถัน
- ซีสเตอีน ( Cysteine )
อนุพันธ์
- กรดเจงโคลิก ( djenkolic acid )
- กรดไธอะโซลิดีน-4-คาร์บอกซิลิก ( thiazolidine-4-carboxylic acid )
สารระเหย 4 ชนิดหลัก
- ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ( hydrogen sulfide ) 41.30%
- เอทานอล ( ethanol ) 39.15%
- 1,2,4-ไตรธิโอเลน ( 1,2,4-trithiolane ) 4.75%
- อะซิทัลดีไฮด์ ( Acetaldehyde ) 3.59%
ซึ่งกลิ่นของสารระเหยหลักที่เชื่อมากที่สุดว่าเป็นต้นตอของกลิ่นแรงคือ 1,2,4-ไตรธิโอเลน
ทำไมกินสะตอแล้วฉี่เหม็น อึเหม็นกว่าปกติ
หลังจากที่เรากินสะตอเข้าไปแล้ว เอนไซม์ในร่างกายของเราจะย่อยสารที่กล่าวมาข้างต้นจนเกิดเป็นกลิ่นที่มีความหลากหลายออกมาจากร่างกายของเราได้แก่ ฉี่ อึ เหงื่อ และลมหายใจ ถ้าสังเกตเวลาที่เราฉี่ออกมากลิ่นมันจะแรงเกินจะอธิบายได้ ขนาดเจ้าของฉี่เองยังเหม็นเลย แล้วถ้าหากมีคนมาใช้ห้องน้ำ หรือโถฉี่ถัดจากเรามันจะแย่แค่ไหน โดยสาเหตุมาจาก เมธิลเมอร์แคปแทน ( methyl mercaptan ) ที่เกิดจากระบบเผาผลาญของร่างกายเราเอง และที่สำคัญมันคือสารตัวเดียวกันที่ทำให้ตัวสกังค์มีกลิ่นเหม็น
วิธีดับกลิ่นสะตอ
ถ้าเรายังมีความเกรงใจผู้ที่ต้องมาดมกลิ่นแรงๆ จากการกินสะตอของเรา ลองกินมะเขือเปราะตามไปหลังจากจัดหนักเมนูสะตอมาแล้วทันทีจะช่วยได้ เพราะสารบางอย่าง และ โพลีฟีนอลออกซิเดส ( polyphenol oxidase ) ที่มีอยู่ในเจ้าผักลูกกลมนี้ จะช่วยทำปฏิกิริยากับส่วนประกอบซัลเฟอร์ของสะตอ ทำให้สามารถช่วยลดกลิ่นลงได้
ทางที่ดีที่สุดที่จะไม่กระทบภาพลักษณ์ของเราและรบกวนผู้อื่น ให้ทานแต่น้อย หรือเลือกทานในเวลาที่ดีที่สุด เช่น วันหยุดอยู่บ้านและไม่ได้มีกิจธุระที่ต้องออกไปพบผู้คน เราก็สามารถเต็มที่กับสะตอโดยไม่สนใจใคร(ถ้าอยู่คนเดียวนะ) และเพื่อให้ร่างกายได้กำจัดกลิ่นนี้ออกไปให้ไวที่สุด ต้องดื่มน้ำมากๆ เท่านั้นเอง